วันนี้จะทำ Research เกี่ยวกับภาษาแบบฮาๆนิดๆ วันนี้มันหงุดหงิดนิดๆจริงๆนะ มันติดใจ
TITLE
การใช้คำตายในภาษาไทยที่คนไทยมักใช้ผิดในการสื่อสารออนไลน์ ของคำว่า อ่ะ คะ ค่ะ
ABSTRACT
วันนี้อั๋นก็เล่นเน็ตตามปกติค่ะ ไปเจอคอมเมนต์แบบนี้มา
“คำว่า อะ เป็นคำตายครับ ใส่ ไม้เอกไม่ได้”
แต่เคยได้ยินคำรึเปล่าคะ เค้าบอกว่า
“รณรงค์ใช้คำว่า คะ ค่ะ ให้ถูกต้องนะคะ”
อ่าว มันก็คำตายทั้งคู่นิ แสดงว่าไม่ใครก็ใครนี้แหล่ะมั่ว
อั๋นหงุดหงิดมากเลย ยิ่งพอคิดไปถึงว่า คำว่า “คะ” ดันมีเสียงตรี เหมือนคำว่า “ค้า” ส่วนคำว่า “ค่ะ” ก็มีเสียงเอกเหมือนคำว่า “ข่า” ในขณะที่มันน่าจะเป็น คะ มีเสียงเหมือน คา ส่วน ค่ะ มีเสียงเหมือน “ค่า” เพราะเป็นอักษรต่ำเหมือนกัน
อย่าว่าอย่างนั้นเลย อั๋นเลยทำ Research เกี่ยวกับการแก้ปัญหาเรื่องนี้ดู
INTRODUCTION AND BACKGROUND
วัตถุประสงค์นี้ไม่มีอะไรมากหรอกค่ะ คือแค่ติดใจสงสัย วันนี้อั๋นโพสไว้ในทวิตเตอร์ แล้วมีเพื่อนมาตอบแบบงงๆ อั๋นว่า ไม่น่าจะใช่นะ หรือถ้าใช่มันน่าจะมีเหตุผลอธิบายไว้ดีกว่านี้
@patamaAun: เค้าบอกว่า อะ เป็นคำตายใส่ไม้เอกเป็น อ่ะ ไม่ได้… แล้ว คะ หล่ะ ยังมีการรณรงค์ให้ใช้ ค่ะ คะ ให้ถูกต้องอยู่เลย มันน่าจะเป็นคำตายรึเปล่า
@natthaof : @patamaAun เป็นเพราะ อ มันเป็นอักษรกลางป่าว ส่วน ค เป็นอักษรต่ำ มันเลยต่างกัน (มั่ว)
เนื่องจากไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้ แต่มีความรู้ด้านคอมพิวเตอร์อยู่บ้าง (ก็ต้องอย่างนี้อยู่แล้วหล่ะ) เลยไปหาข้อมูลจาก Wikipedia ค่ะ คาดว่าเป็นแหล่งข้อมูลที่อั๋นพอจะหาได้แล้วน่าเชื่อถือที่สุดในขณะนี้แล้ว
ก่อนอื่นจะทำรีเสิร์ชเรื่องนี้ เราต้องไปหาความรู้เรื่อง เรื่องคำตายก่อน และคำที่อั๋นสงสัยตอนนี้คือคำว่า อะ กับ คะ ทำไม อะ เติมไม้เอกได้ และ คะ มีไม้เอกและความหมายต่างจากคำว่า ค่ะ ดังนั้นจึงต้องศึกษาในส่วนของ อักษรต่ำ และ อักษรกลางด้วยนี้เอง
RELATED THEORY
คำตาย: ก่อนอื่นมารู้จักคำตายก่อน หลักๆคำตายจะมีรูปแบบดังนี้
- เป็นคำที่ประสมกับสระเสียงสั้นในแม่ ก กา (ไม่มีตัวสะกด) พวก อะ อิ อุ โอะ ยกเว้น อำ ใอ ไอ เอา เพราะเอาเข้าจริง ไอ้สี่ตัวนี้มันเหมือนมีตัวสะกดอย่างคำว่า อำ = อ+ะ+ม โอเคนะ
- คำที่มีตัวสะกดอยู่ในแม่ กก กด กบ เช่น กก กด กบ ไง – -“
วรรณยุกต์ไทยและระบบไตรยางศ์
ในภาษาไทยคือหลักๆจะมีอยู่ห้าเสียงห้ารูป สามัญ เอก(-่) โท(-้) ตรี(-๊) จัตวา(-๋)
ส่วนการผันนี้ก็ต้องดูว่าไอ้พวกคำที่เราจะผันอยู่ในกลุ่มใดในระบบไตรยางศ์
อักษรกลาง: ก, จ, ฎ, ฏ, ด, ต, บ, ป, และ อ
อักษรสูง: ข, ฃ (เลิกใช้), ฉ, ฐ, ถ, ผ, ฝ, ศ, ษ, ส, และ ห
อักษรต่ำ: ค, ฅ (เลิกใช้), ฆ, ง, ช, ซ, ฌ, ญ, ฑ, ฒ, ณ, ท, ธ, น, พ, ฟ, ภ, ม, ย, ร, ล, ว, ฬ, และ ฮ
การที่เค้าแยกไว้สามแบบนี้เพราะว่า ไอ้พวกนี้เป็นการพิจารณาเฉพาะรูปพยัญชนะเท่านั้น โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผันเสียงวรรณยุกต์ไปในแบบเดียวกัน คือ ถ้ากลางเหมือนกัน ก็จะผันเสียงเหมือนกัน อะไรแบบนี้ และการผันเสียงก็จะต่างกันไปด้วย
RESULT AND DISCUSSION
คราวนี้ตัวปัญหาของเราคือคำว่า อะ กับ คะ
คำว่า อะ อักษร อ เป็นอักษรกลาง ไม่มีตัวสะกด แต่ประสมกับสระเสียงสั้น เป็นคำตาย โดยทั่วไปแล้ว รูปปกติของอักษรกลางจะมีพื้นเสียงเป็นเสียงเอก เพราะฉะนั้น คำว่า อะ กับ อ่า จะอยู่ในระดับเสียงเอกเหมือนกัน จึงมีการเข้าใจผิดใช้คำว่า อ่ะกันมากมายในหมู่ผู้ในอินเตอร์เน็ต ทั้งๆที่คำว่า อะ ก็เป็นเสียงเอกอยู่แล้ว โดยตามหลักภาษาไทยอักษรกลางคำตายคือ
- คำตายที่ใช้อักษรกลางเป็นพยัญชนะต้น จะมีพื้นเสียงเป็นเสียงเอก เช่น กัด จิก เด็ก ตบ บก ปาก ออด ฯลฯ
- เมื่อผันด้วยไม้โท จะมีเสียงโท เช่น กู้ด จ้ะ ฯลฯ
- เมื่อผันด้วยไม้ตรี จะมีเสียงตรี เช่น ก๊ก จั๊ก โด๊บ โต๊ะ บั๊ก ฯลฯ
- เมื่อผันด้วยไม้จัตวา จะมีเสียงจัตวา เช่น ก๋ะ จ๋ะ ฯลฯ ปัจจุบันไม่ปรากฏการเติมไม้จัตวากับคำตายที่เป็นอักษรกลาง
- ตามหลักภาษา ไม่สามารถผันด้วยไม้เอก
- การผันก็จะเป็นเสียง เอก โท ตรี จัตวา เช่น กะ ก้ะ ก๊ะ ก๋ะ อ่านไม่ออกค่ะ ใครอ่านออกช่วยอ่านให้ฟังด้วยนะ
เพราะฉะนั้น คำกล่าวว่า ใช้คำว่า “อ่ะ” ไม่ได้ ก็ถือว่าถูกต้องเพราะอักษรกลางคำตายไม่สามารถเขียนด้วยรูปไม้เอก
คำว่า คะ อักษร ค เป็นอักษรต่ำ ไม่มีตัวสะกด แต่ประสมกับสระเสียงสั้น เป็นคำตาย รูปปกติของอักษรต่ำคำตายจะมีพื้นเสียงเป็นเสียง ตรี ตามหลักภาษาไทย อักษรต่ำคำตายคือ
- คำตายที่ใช้อักษรต่ำเป็นพยัญชนะต้น และสะกดด้วยสระเสียงสั้น จะมีพื้นเสียงเป็นเสียงตรี เช่น คะ ชัก นก ทุบ เล็ก เพียะ ฯลฯ
- เมื่อผันด้วยไม้เอก จะมีเสียงโท เช่น ค่ะ มั่ก ฯลฯ
- กรณีนี้มีบางคำที่อาจกลายเป็นเสียงเอกในการสนทนา เช่น ค่ะ→ขะ, น่ะ→หนะ, ย่ะ→หยะ, ล่ะ→หละ, ว่ะ→หวะ
- เมื่อผันด้วยไม้จัตวา จะมีเสียงจัตวา เช่น ค๋ะ ม๋ะ ฯลฯ ปัจจุบันไม่ปรากฏการเติมไม้จัตวากับคำตายสระเสียงสั้นที่เป็นอักษรต่ำ (บางตำราไม่ให้ใช้ไม้จัตวาในกรณีนี้เลย)
- ตามหลักภาษา ไม่สามารถผันด้วยไม้โทและไม้ตรี
- การผันเสียงจะเป็น โท ตรี จัตวา ก็จะผันได้ ค่ะ(เสียงโท) คะ(เสียงตรี) ค๋ะ(เสียงจัตวา) แต่ใครอ่านเสียงจัตวาได้ช่วยอ่านให้ฟังทีนะ ถึงว่าปัจจุบันเค้าเลิกใช้ไปแล้ว
เพราะฉะนั้น คำว่า ค่ะ เลยเติมไม้เอกได้
***CONCLUSION***
ฉะนั้นจะบอกว่า คำตายผันวรรณยุกต์ไม่ได้ ไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องนะ จริงๆต้องดูด้วยว่าตัวมันเป็นอักษร สูง กลาง หรือต่ำด้วย อย่างคอมเมนต์ที่อั๋นเห็นที่เค้าเขียนว่า “คำว่า อะ เป็นคำตายครับ ใส่ ไม้เอกไม่ได้” จะต้องมีการขยายความว่า “คำว่า อะ เป็นอักษรกลางคำตาย ใส่ไม้เอกไม่ได้” จะถูกกว่า เพราะคำตายสามารถผันเสียงและเขียนรูปวรรณยุกต์ได้ตามหลักที่กล่าวมา แต่ว่ายังไงก็เถอะนะ อั๋นว่าคำตายเวลาผันเสียงแล้วดูลำบากจริงๆเลย บางเสียงเรายังอ่านไม่ออกเลยค่ะค่ะ – -“
REFERENCES
วรรณยุกต์ภาษาไทย จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี http://th.wikipedia.org/wiki/วรรณยุกต์ภาษาไทย
ไตรยางศ์ http://www.thaicadet.org/thai/ไตรยางค์.html
รูปและเสียงวรรณยุกต์ http://202.29.138.73/2548/e_bs/G1/sunee/page2.htm
APPENDIX
เหลืออีกอัน ไหนๆก็ทำรีเสิร์จเรื่องนี้ละ ใส่ของคำตายอักษรสูงลงไปด้วยละกัน
- คำตายที่ใช้อักษรสูงเป็นพยัญชนะต้น จะมีพื้นเสียงเป็นเสียงเอก เช่น ขบ ขด ขัด ฉุด ถัก ผัก ฝึก สด หาด ฯลฯ
- เมื่อผันด้วยไม้โท จะมีเสียงโท เช่น ข้ะ ข้าก ฯลฯ ปัจจุบันไม่ปรากฏการเติมไม้โทกับคำตายที่เป็นอักษรสูง
- ตามหลักภาษา ไม่สามารถผันด้วยไม้เอก ไม้ตรี และไม้จัตวา
- ก็จะผันได้เสียง เอก กับ โท เช่น ขะ(เสียงเอก) ข้ะ(เสียงโท)